รัชกาลที่ 10

ข้อมูลส่วนพระองค์

พระราชสมภพ         28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 (64 พรรษา)
พระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบรมราชชนนี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระมเหสี                 พระเจ้าวรวงศ์เธอ
                                พระองค์เจ้าโสมสวลี
                                พระวรราชาทินัดดามาตุ (2520–2534)
                                สุจาริณี วิวัชรวงศ์ (2537–2539)
                                ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี (2544–2557)
พระราชบุตร             7 พระองค์

พระนามเดิม

พระนามเดิมของพระองค์ เดิมว่า สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร

พระราชสมภพ

       สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น. มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

       ขณะพระชนมายุได้หนึ่งพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตา ว่า

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล
    อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร
กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
       พระนาม "วชิราลงกรณ" นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งถวาย มาจาก "วชิรญาณะ" พระนามฉายาขณะผนวชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ "อลงกรณ์"Ž จากพระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า "ทรงเครื่องเพชรนิลจินดา" หรืออาจแปลว่า "อสุนีบาต"

พระราชกรณียกิจ

       สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ เริ่มตั้งแต่การตามเสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ และความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร ทรงเรียนรู้แนวทางการพระราชทานความช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบปัญหาแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงความทุกข์ยากของราษฎรทุกหมู่เหล่า

       สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนไทย โดยทรงรับโรงเรียนหลายแห่งไว้ในพระราชูปถัมภ์ เนื่องจากทรงตระหนักดีว่า การศึกษาจะสามารถพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต จึงพระราชทานพระราดำริด้านการส่งเสริมการศึกษา ได้แก่
"โครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน

       ในยามที่ราษฎรประสบความเดือดร้อนเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นเมื่อครั้งเกิดมหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และยังได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรผู้ประสบภัย สร้างความปลื้มปิติแก่ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

       พระราชภาระสำคัญประการหนึ่งที่ทรงปฎิบัติต่อเนื่องคือ การเสด็จแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปนั้น นอกจากจะเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศต่างๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นแล้ว ยังได้ทอดพระเนตรกิจการอันเป็นประโยชน์ต่างๆ อันจะนำมาใช้ ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการทหาร

       สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในประเทศนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสำคัญหลายโอกาส อาทิ การเปลี่ยนเครื่องทรง "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" หรือ "พระแก้วมรกต" ตามฤดูกาล, การบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา, การตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล และพระราชทานธงชัยเฉลิมพล, การพระราชทานปริญญาบัตรในสถาบันการศึกษาต่างๆ, การพระราชทานพระราชวโรกาสให้เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายราชสาส์น และอักษรสาส์นตราตั้ง ทั้งยังพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายทหาร และนายตำรวจชั้นนายพล เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายสัตย์ปฎิญาณ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง

       การทุ่มเทพระวรกายปฎิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่โดยมิทรงว่างเว้นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สะท้อนถึงพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการขจัดทุกข์บำรุงแก่พสกนิกร เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งยังประโยชน์สุขแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่าสืบมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น